พระอาจารย์ได้อุปมาอุปไมย
เกี่ยวกับตัวเรากับ #ขันธ์๕
ขันธ์ ๕ คือ ตัวร่างกายนี้ เปรียบประดุจดั่ง #แก้ว
เราคือผู้มายึดถือครอบครองเอา
เรียกว่า เราเป็นเจ้าของขันธ์
คือตัว #ร่างกาย กับ #ใจ หรือชีวิตของเราเอง
เหมือนกับเราเป็นเจ้าของแก้ว
.
การเป็นเจ้าของ
ไม่ได้หมายถึงว่าแก้วกับเราเป็นอันเดียวกัน
คือ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน มันคนละสิ่ง
มันมีของอันหนึ่ง กับผู้เป็นเจ้าของอันหนึ่ง
.
ฉะนั้นเมื่อแก้วใบนี้
เป็นที่รองรับสิ่งที่จะเอาไปใส่เข้าไปข้างใน
เทน้ำร้อนลงไป แก้วนี้ก็ต้องร้อน
เทน้ำเย็นลงไป แก้วนี้ก็ต้องเย็น
.
ชีวิตของเราบางที รับสุขบ้าง รับทุกข์บ้าง
เราก็ต้องปล่อยให้มันเป็น และ #เรียนรู้มัน
เรียนรู้ที่จะปฏิบัติต่อมัน
.
#ว่าอะไรควรรู้#อะไรควรละ
#อะไรควรทำให้แจ้ง และ #อะไรที่เราควรที่จะเจริญขึ้น
.
แต่เราจะไม่ไปยึดถืออาการของกาย
หรือชีวิต หรือขันธ์นี้
หรืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับแก้วใบนี้
มาเป็นสุขเป็นทุกข์ในตัวเรา
.
เพราะแก้วมันก็รับไปแล้ว รับผลตรงนั้นไปแล้ว
นอกจากว่าแรงแห่งการ #ยึดติด
ด้วยอำนาจของ #ตัณหา ที่เราไปยึดว่า
แก้วได้รับกระทบกับสิ่งใด
เราก็เป็นผู้ไปรับทุกข์พร้อมกับแก้วใบนั้น
เพราะเรามีความรู้สึกว่า เรากับแก้วเป็นอันเดียวกัน
.
นี่คือเราขาด #ปัญญา ในการเรียนรู้จากความเป็นจริง
และเราไม่สามารถแยกออกได้ว่า
#เรากับแก้วเป็นอันเดียวกันหรือไม่
เมื่อเราแยกไม่ออก
มันก็เลยหลงอยู่กับกายกับใจของเราเองว่าคือแก้วใบนี้
เมื่อเราหลงมากเข้า แม้แก้วใบนี้แตก
มันก็จะส่งผลต่อความรู้สึกของเรา
.
แม้ร่างกายเรากำลังจะแก่ กำลังจะเจ็บ กำลังจะตาย
หรือกำลังจะเจอทุกข์อะไรต่าง ๆ
มันก็ส่งผลต่อผู้ที่เป็นเจ้าของ
.
ถ้าคิดถึงตัวผู้เป็นเจ้าของจริง ๆ ว่า
#ใครเป็นเจ้าของของร่างกายเรา
ตัวร่างกายเราจริง ๆ แล้วมีเจ้าของจริง ๆ อยู่ ๓ เจ้า
ก็คือ #นายชรา อันที่สองคือ #นายพยาธิ
อันที่สามคือ #นายมรณะ นี่คือ เจ้าของที่แท้จริง
.
ตอนนี้เมื่อเราเกิดขึ้นมาแล้ว
นายชราก็จะนำไปหาความเจ็บ
คือ ส่งต่อไปให้นายพยาธิ เข้ามาทำหน้าที่ต่อ
นายพยาธิก็ส่งต่อไปให้นายมรณะ
นายมรณะ คือ ความตาย
.
นั่นหมายถึงว่า
เรารอการตายอยู่ในการใช้ชีวิตของมนุษย์นี้
เมื่อเราใช้ชีวิตโดยการรอการตายอยู่
การหลงยึดถือในสิ่งที่มันแก่ มันเจ็บ มันตาย
พระองค์จึงสอนให้พุทธสาวกให้เข้าใจว่า
เราจะไม่มีทางหลุดพ้นได้เลย
ถ้าเรายังยึดถือ
สิ่งที่ #แก่ สิ่งที่ #เจ็บ สิ่งที่ #ตาย ว่าเป็นตน
เพราะเราก็จะต้องเกิดมาเพื่อแก่ เพื่อเจ็บ เพื่อตายอีก
เกิดใหม่อีก ก็จะเกิดมาเพื่อแก่ เพื่อเจ็บ เพื่อตายอีก
แต่เราไม่ได้รู้หรอกว่า
เราจะเกิดมาเพื่อแก่ เพื่อเจ็บ เพื่อตาย
.
เราใช้ชีวิตโดยการมั่นหมายในชีวิตว่าเป็นเรา
เป็นตัวตนของเรา
เราจะใช้ร่างกายชีวิตนี้ให้เป็นไปตามที่เราต้องการ
ตราบที่อำนาจของ #ตัณหา
ที่คอยสั่งการและบอกใจเราอยู่
ให้เราทำตามสิ่งนั้นสิ่งนี้ ตอบสนองตามใจอยาก
ซึ่งมันจะไม่มีทางหมดสิ้นไปได้
กับความต้องการของ #ตัณหา ที่มันจะเกิดขึ้น
เพราะใจของมนุษย์ไม่เคยอิ่ม
.
อย่าว่าแต่ใจเลย
แม้แต่อายตนะเองทาง #ตา#หู#จมูก#ลิ้น#กาย#ใจ
พระองค์ก็เคยตรัสบอกว่า
ตาไม่เคยอิ่มรูป มันอยากจะดูอยู่อย่างนั้น
มันจะเห็นอยู่นั่นหนะ
หูก็ไม่เคยอิ่มเสียง มันก็อยากจะฟังเสียงไปเรื่อย
จมูกก็ไม่เคยอิ่มกลิ่น
ลิ้นไม่เคยอิ่มรส
กายไม่เคยอิ่มต่อการสัมผัส
ใจก็ไม่เคยอิ่มกับอารมณ์
มันจะกินอารมณ์กันอยู่อย่างนี้ จิตกับอารมณ์
.
ฉะนั้น เราอยู่กับสิ่งที่มันจะต้องมีตัณหา
คอยผลักดันอยู่ตลอดตามความอยาก
ตามความต้องการในชีวิตของพวกเรา
มันคือความเป็นจริง
แล้วในความเป็นอยู่ที่มันมี
ทั้งตัณหา ทั้งความทุกข์
เรามาเป็นเจ้าของร่างกาย
โดยการหลงยึดถือสิ่งที่เป็นของ
โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองนี้ สามารถเป็นอิสระจากตัวเอง
เป็นอิสระจากแก้วใบนี้ก็ได้
แม้ว่ามันแตกไปแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ
ที่เราจะต้องไปทุกข์ ไปอะไรกับมัน
.
นี่คือความไม่เข้าใจของเรา
เราเลยไม่เป็นอิสระจากเรื่องราว
อารมณ์ทั้งหลายที่เรายึดมั่นถือมั่นอยู่
อะไรก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อกายกับใจ
ทั้งชีวิตเราหรือความรู้สึกอะไรบางอย่าง
เราก็จะคว้ายึดจับมาเป็นปัญหาได้หมดทุกเรื่อง
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ก็คือการที่เราไม่ได้แยกออกมา
ให้ได้เห็นความเป็นจริง ระหว่างเรากับสิ่งที่เป็นเจ้าของ
—————— พระอาจารย์จารุวณฺโณ ภิกขุ (พระอาจารย์ต้น)
ส่วนหนึ่งของการสนทนาธรรม live
ณ ที่พักสงฆ์ป่านาโสกฮัง
วันจันทร์ที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๕