ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เป็นช่องทางแห่งการรับรู้ รับสัมผัส (ผัสสะ) เกี่ยวข้องกับสิ่งภายนอก
ขณะที่มีการรับรู้ รับส้มผัส จึงมีการเสวยอารมณ์ (เวทนา) เป็น ๓ คือ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง
เมื่อต้องรับเวทนา ๓ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมีความอยาก (ตัณหา) ที่จะให้ ‘สุขเวทนา’ คงอยู่ อยากให้ ‘ทุกขเวทนา’ ดับไป
ทำให้ต้องพยายามสร้างเหตุปัจจัยต่าง ๆ เพื่อประกอบตนให้มีความสุขอยู่ในโลกนี้ แล้วถือเอา (อุปาทาน) เหตุปัจจัยนั้น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความทุกข์
การถือเอาด้วยเหตุปัจจัยในลักษณะนี้ โดยที่ไม่ทราบว่า เวทนาทั้งสามไม่เที่ยง ยิ่งทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นอย่างแรงไว้ในใจ เพราะการถือมั่นนี้แหละจึงได้เกิดมี ‘ภพ’ (ที่อยู่) ขึ้นในจิต เมื่อมีภพย่อมมี ‘การเกิด’ (ชาติ) แล้วก็เกิดอีกอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
เมื่อมีการเกิดอยู่บ่อย ๆ แน่นอนว่า ย่อมต้องมีแก่อยู่บ่อย ๆ เจ็บอยู่บ่อย ๆ ตายอยู่บ่อย ๆ เศร้าโศกอยู่บ่อย ๆ คร่ำครวญอยู่บ่อย ๆ ร่ำไรรำพันอยู่บ่อย ๆ ทุกข์อยู่บ่อย ๆ เสียใจอยู่บ่อย ๆ คับแค้นใจอยู่บ่อย ๆ ผิดหวังอยู่บ่อย ๆ
นี่คือที่มาของทุกข์นานาประการที่มนุษย์ทุกคนต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่เราได้รับทุกข์อยู่อย่างนี้ เป็นเพราะเราไม่รู้ความจริงที่เรียกว่า ‘อริยสัจ’
จารุวณฺโณ ภิกฺขุ (พระอาจารย์ต้น)