อริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยเจ้า ความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นพระอริยะ ความจริงที่นักภาวนาควรกำหนดรู้ คือ
๑. ทุกข์ : สภาพที่ทนได้ยาก สภาพที่บีบคั้น ความขัดแย้งความบกพร่อง
๒. ทุกขสมุทัย (ทุก-ขะ-สะ-หมุ-ไท) : เหตุเกิดแห่งทุกข์ สาเหตุให้ทุกข์เกิด ที่ตั้งแห่งทุกข์ ตัวก่อทุกข์
๓. ทุกขนิโรธ (ทุก-ขะ-นิ-โรด) : ความดับทุกข์ ภาวะที่สิ้นทุกข์ ภาวะที่บรรลุถึง ความดับไปแห่งเหตุ
๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ทุก-ขะ-นิ-โร-ทะ-คา-มิ-นี-ปะ-ติ-ปะ-ทา) : หนทางดำเนินไปสู่ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
สาเหตุที่เรียกว่า อริยสัจ เพราะเป็นธรรมที่พระอริยะทั้งหลายอันมีพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์แทงตลอดแล้ว เป็นสัจจะ (ความจริง) ของพระอริยะ เป็นความจริงที่พระอริยะไม่คัดค้าน
การเรียนรู้ว่าโดยลำดับ ดังนี้
๑. ทุกข์ อยู่อันดับที่ ๑ เพราะเป็นของหยาบ หรือเพราะว่าเป็นตัวปัญหาซึ่งมีอยู่ในในใจคน พูดให้ง่ายก็คือ ทุกข์คือตัวปัญหาของมนุษย์ ความทุกข์นี้พระพุทธเจ้าทรงสอนให้กำหนดรู้ คือ รู้ว่าร่างกายเป็นทุกข์ ใจเป็นทุกข์ หรือความทุกข์นี้เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่ต้องมีต้องเป็น ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติ หรือเรื่องน่าหวาดกลัวที่เราจะไปทุกข์กับมันอีก เพียงแต่ให้กำหนดรู้ทุกข์
๒. สมุทัย อยู่อันดับที่ ๒ เพราะเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ เพื่อให้รู้ว่าทุกข์ที่เกิดขึ้นมานั้น ถ้าไม่มีเหตุ ก็ไม่มีทุกข์เกิดขึ้นมาได้ เหตุที่กล่าวไว้ในสมุทัยนี้คือ ตัณหา ๓ (กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา) เป็นเหตุผลที่มนุษย์จะต้องตระหนักว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเรานี้ หาใช่เป็นการบันดาลจากผู้ศักดิ์สิทธิ์ ผู้มีฤทธิ์ มีอำนาจ หรือเทพเจ้าองค์ใด ๆ เช่น พระเจ้า พระพรหม หรือพระอิศวร เป็นต้น แต่เป็น เพราะเจ้าตัณหาทั้งสามนี้ต่างหากที่ตกแต่งขึ้น ควรกำหนดดูให้รู้ ว่าสมุทัยนี้แหละ คือ เหตุให้ทุกข์เกิด
๓. นิโรธ อยู่อันดับ ๓ นั้น เพื่อให้รู้ว่า ความดับปัญหาย่อมมีได้ เป็นได้ เพราะความดับไปแห่งเหตุ ซึ่งเป็นผลปรากฎเห็นชัดได้ในชาติปัจจุบันนี้ โดยไม่ต้องรอภพหน้าชาติหน้า และไม่ต้องรอผลดลบันดาลจากผู้ใด หรือจากเทพเจ้าองค์ใดทั้งสิ้น แต่เป็นการดับทุกข์ เพราะได้ถูกแก้ไขให้ตรงตามหลักแห่งมรรค ๘ ซึ่งเราควรกำหนดดูให้รู้ว่า การดับทุกข์นั้นดับได้จริง ๆ เมื่อปฏิบัติตามมรรค ๘
๔. มรรค อยู่อันดับ ๔ เพื่อแสดงอุบายให้บรรลุถึงนิโรธ หรือบอกหนทาง และข้อปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง ควรศึกษาทำความรู้ในมรรค ๘ นั้น ให้เข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้งก่อน จึงลงมือปฏิบัติธรรม
หน้าที่ที่เราควรปฏิบัติต่ออริยสัจ ๔
๑. ทุกข์ : เป็นของควรกำหนดรู้ คือ ให้รู้ว่าธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ เป็นตัวทุกข์
๒. สมุทัย : เป็นของควรละ คือ ให้รู้ว่า กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นของควรละ
๓. นิโรธ : เป็นของควรทำให้แจ้ง คือ ให้รู้ว่านิพพานเป็นของควรทำให้แจ้งขึ้นมาในใจ
๔. มรรค : เป็นของควรเจริญขึ้น คือ เจริญการภาวนาด้วยการปฏิบัติต่อทุกข์อย่างถูกต้องตามข้อปฏิบัติ ๘ ข้อ
จารุวณฺโณ ภิกฺขุ (พระอาจารย์ต้น)