– การเกิดขึ้นของขันธ์ จัดเป็นทุกขสัจจ์
– ตัณหาที่อิงอาศัยขันธ์เกิดขึ้น จัดเป็นสมุทัยสัจจ์
– ความดับไปของตัณหา จัดเป็นนิโรธสัจจ์
– การรู้จักทุกข์ รู้จักสมุทัย รู้จักนิโรธ จัดเป็นมรรคสัจจ์
.
เมื่อเข้าใจหลักอริยสัจในข้างต้นแล้ว ข้อปฏิบัติที่เราจะต้องลงมือทำ คือ ข้อมรรคข้อเดียว อริยสัจข้ออื่น ๆ เพียงแค่ให้ “รู้จักไว้” เท่านั้น
การดำเนินมรรค คือ การเข้าไปปฏิบัติต่อทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ด้วยสัมมาทิฏฐิ ดังนี้
.
๑. ทุกขสัจจ์ ให้ “กำหนดรู้”
เมื่อขันธ์ ๕ ประสบกับอารมณ์ภายนอกหรือภายใน การปรากฏขึ้นของอารมณ์ เป็นการเกิดขึ้นของขันธ์ การดับไปของอารมณ์ เป็นการดับไปของขันธ์ ให้กำหนดรู้ความเกิด-ดับของขันธ์ไว้อยู่เสมอ
.
๒. สมุทัยสัจจ์ ให้ “ละ”
เนื่องจากว่าทุกข์ได้ถูกกำหนดรู้ไว้แล้ว ตัณหาจึงเกิดร่วมกับทุกข์ไม่ได้ แล้วจะละตัณหาที่เป็นตัวสมุทัยกันอย่างไร
เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่า ขั้นตอนที่ลงมือทำนี้ เป็นขั้นตอนของมรรค ที่มีสัมมาทิฏฐิทำหน้าที่กำหนดรู้ทุกข์อยู่ด้วยอำนาจของสัมมาทิฏฐิ ตัณหาจึงเกิดขึ้นไม่ได้ แต่อวิชชาสังโยชน์ยังคงมีอยู่ ทำให้ไม่เห็นเกิด-ดับทันได้ในทุก ๆ คราว อวิชชาจึงนอนเนื่องอยู่ในทุกข์ได้ อวิชชานี่แหละคือสมุทัยแท้ และถ้าเผลอไม่กำหนดรู้ทุกข์เมื่อไหร่ อวิชชาก็จะเป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิดร่วมกับทุกข์ได้ ฉะนั้นในขั้นตอนนี้จึงไม่มีตัณหาปรากฏชัด แต่ก็ต้องเข้าใจว่า ตัณหาได้ถูกละอยู่ทุก ๆ คราวที่กำหนดรู้ทุกข์อยู่
.
๓. นิโรธสัจจ์ ให้ “ทำให้แจ่มแจ้ง”
เมื่อทุกข์ถูกรู้ สมุทัยก็ถูกละ เมื่อสมุทัยถูกละ นิโรธก็ปรากฏ ให้ทราบชัดความปรากฏของนิโรธว่า เพราะสมุทัยดับไปจึงปรากฏนิโรธขึ้นมา
.
๔. มรรคสัจจ์ ให้ “เจริญขึ้น”
การเจริญมรรค คือ การกำหนดรู้ความเกิด-ดับของขันธ์ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
จารุวณฺโณ ภิกฺขุ (พระอาจารย์ต้น)