#พระพุทธองค์กับการโต้วาทะ
เมื่อคราวที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี คราวครั้งนั้น มีสัจจกนิครนถ์เป็นนักโต้ตอบ พูดยกตนว่าเป็นปราชญ์ ถูกยกย่องว่ามีความรู้มาก เขาประกาศตนเองไปทั่วเมืองเวสาลีว่า
“เราไม่เห็นสมณะ หรือพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ แม้ที่ปฏิญญาว่าเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ เมื่อได้โต้ตอบกับเราแล้ว จะไม่ประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้แม้แต่คนเดียว หากเราโต้ตอบกับเสาที่ไม่มีเจตนา เสานั้นยังต้องประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว จะป่วยกล่าวไปใยถึงมนุษย์เล่า”
ในวันหนึ่ง สัจจกนิครนถ์ได้เข้าไปหาพระพุทธองค์พร้อมด้วยบริวาร ปารภเรื่องที่จะโต้ตอบกับพระพุทธองค์ ได้กล่าวขึ้นว่า
สัจจกะ : สมณโคดม ท่านสอนสาวกอย่างไร?
พระพุทธองค์ : เรากล่าวสอนสาวกโดยมากว่า ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง ไม่คงทนถาวร และมิใช่ตน
สัจจกะ : ท่านผิดแล้วสมณโคดม
พระพุทธองค์ : ผิดอย่างไรหรือ สัจจกะ?
สัจจกะ : ก็เหมือนดั่งพืชพันธุ์ไม้ ต้องอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่บนแผ่นดินเท่านั้นถึงจะเจริญงอกงามได้ หรือการงานที่ต้องใช้กำลังวังชา ก็ต้องกระทำกันอยู่บนแผ่นดิน ตั้งอยู่บนแผ่นดิน จึงกระทำกันได้ ฉันใด บุคคลต้องมีขันธ์ ๕ เป็นตัวตน ตั้งอยู่ในขันธ์ ๕ เท่านั้น จึงได้ประสบผลบุญ ผลบาป ฉันนั้น
พระพุทธองค์ : ท่านกล่าาวอย่างนั้นหรือสัจจกะ?
สัจจกะ : ใช่ เรากล่าวอย่างนั้น สมณโคดม
พระพุทธองค์ : ท่านยืนยันว่า ขันธ์ ๕ เป็นตัวตนอย่างนั้นหรือสัจจกะ?
สัจจกะ : ใช่ เรายืนยันอย่างนั้น ขันธ์ ๕ เป็นตัวตนอย่างแน่แท้
พระพุทธองค์ : งั้น เราขอถามท่านบ้าง พระราชาผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว มีพระราชอำนาจที่จะฆ่าคนที่ควรฆ่า ในเขตแว่นแคว้นของพระองค์ มิใช่หรือ?
สัจจกะ : แน่นอนสมณโคดม พระราชาย่อมทำเช่นนั้นได้แน่นอน?
พระพุทธองค์ : หากท่านกล่าวว่า ขันธ์ ๕ เป็นตัวตนของบุคคลแล้ว เพราะฉะนั้น บุคคลย่อมมีอำนาจเป็นไปในขันธ์ ๕ ว่าเราจักเป็นอย่างนี้ เราจักไม่เป็นอย่างนั้นเป็นต้น ใช่หรือไม่?
สัตจกะ : ใช่แล้ว สมณโคดม
พระพุทธองค์ : แล้วคนที่ถูกฆ่านั้น จะสามารถร้องขอชีวิตกับพระราชาว่า ‘ร่างกายนี้เป็นของข้าพระองค์ พระองค์จะประหารร่างกายของข้าไม่ได้ เพราะนี่เป็นตัวตนของข้า’ อย่างนี้ จะกระทำได้หรือไม่สัจจกะ?
สัจจกะ : ย่อมไม่ได้แน่ สมณโคดม
พระพุทธองค์ : ดูก่อนสัจจกะ คำตอบครั้งแรก กับคำตอบครั้งหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านควรพิจารณารอบคอบให้ดีก่อนตอบ
สัจจกนิครนถ์นั่งนิ่ง คอตก ซบเซา ประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว เหงื่อไหลออกจากรักแร้หยดตกลงบนผ้า หมดปฏิภาณ
อ้างอิงจาก : จูฬสัจจกสูตร เล่ม ๑๒ หน้า ๓๐๐ ฉบับสยามรัฐ
จารุวณฺโณ ภิกฺขุ
#พระอาจารย์ต้น
เครดิตภาพ : fb เปิดตำนานพระสาวก
ดูน้อยลง
— ที่ สถานศึกษาธรรมป่านาโสกฮัง