จำไว้ว่า สังขารขันธ์จะทำหน้าที่มากกว่าขันธ์อื่น
เพราะสังขารขันธ์ ทำหน้าที่ปรุงแต่งรูป ปรุงแต่งเวทนา
ปรุงแต่งสัญญา ปรุงแต่งสังขาร
คือปรุงแต่งตัวมันเองด้วย
แล้วก็ปรุงแต่งวิญญาณ
.
การที่มันทำหน้าที่มากกว่าตัวอื่น
คือมันมีบทบาทในการก่ออารมณ์ สร้างอารมณ์
ปรุงแต่งอารมณ์ได้มากกว่าขันธ์อื่น
ขันธ์อื่นยังไม่สามารถก่อตัวอารมณ์ได้มากเท่ากับสังขารขันธ์
.
บรรดาความคิด ความนึก
ความปรุงแต่งอารมณ์ทั้งหลายเนี่ย
ล้วนแล้วแต่มีมูลเหตุมาจากสังขารขันธ์
แม้แต่ความกลัว ความโกรธ
ความวิตก ความกังวล
อย่างนี้มาจากสังขารขันธ์ทั้งนั้น
.
ฉะนั้นสิ่งที่พระอาจารย์ขอแนะนำวิธีปฏิบัติในการจับอารมณ์ลงขันธ์เนี่ย
ถ้าเราจับสัญญาขันธ์ได้ สังขารขันธ์จะทำหน้าที่น้อยลง
.
เพราะว่าสังขารขันธ์ คือการปรุงแต่ง
จะทำหน้าที่หรือจะปรุงแต่งได้ ก็ต้องมีสัญญาขันธ์เป็นมูลฐาน
.
เมื่อมีสัญญาขันธ์เป็นมูลฐาน
สัญญาคือข้อมูลที่จะทำให้สังขารทำหน้าที่ในการปรุงแต่ง
คือตรึกนึก คิดนึก
ไตร่ตรอง อะไรก็ตาม
ต้องดึงมาจากสัญญาขันธ์
.
ถ้าเราไปรู้สัญญาขันธ์เกิดดับ
รู้การปรุงแต่งของสัญญาขันธ์
รู้การเกิดขึ้นของสัญญาขันธ์อยู่เรื่อยๆอยู่สม่ำเสมอ
รู้ขันธ์เกิดดับ
รู้สัญญาขันธ์เกิดดับ อยู่ได้เรื่อยๆ
สังขารขันธ์จะทำหน้าที่น้อยลง คือทำหน้าที่ในการปรุงแต่งน้อยลง
.
แต่ก็มีบ้างเล็กๆน้อยๆ
คือทำหน้าที่เพื่อให้อารมณ์บางอารมณ์เกิด
แต่ถ้าถูกรู้ผ่านสัญญาขันธ์เมื่อไหร่
ตัวสังขารขันธ์ก็จะดับตัวเองลงไปอย่างรวดเร็ว
และเหลือแต่สัญญาทำหน้าที่
เราก็จับสัญญาขันธ์นี้ไว้อยู่เสมอ
โดยการปฏิบัติโดยการทักขันธ์
หรือทักอารมณ์เหล่านี้
เป็นการทักโดยการเรียนรู้ขันธ์ทุกขันธ์ก่อน
เพื่อให้เราจับความเคยชิน
หรือจับทางของอารมณ์ได้ว่า
อารมณ์อาศัยขันธ์ชนิดไหนเกิด
.
เมื่อเราจับทาง จับอารมณ์ได้ว่า อารมณ์อาศัยขันธ์ชนิดไหนเกิดแล้วเนี่ย
เมื่อเรารู้การเกิด การดับของอารมณ์ผ่านขันธ์
และจับเห็นว่าเป็นขันธ์เกิดดับได้ในทุกๆขันธ์
จากนั้นให้จับดูขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง ไม่จำเป็นต้องจับทุกขันธ์
ดูขันธ์ใดขันธ์หนึ่งก็พอ ขันธ์อื่นไม่ต้องสนใจ
ที่พระอาจารย์แนะนำคือ แนะนำดูสัญญาขันธ์
.
ถ้าเราดูสัญญาขันธ์ติดต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ
จนเห็นความเกิดดับของขันธ์อยู่เสมอ
จนกว่าความรู้ในการเห็นสัญญาขันธ์อย่างนี้ อยู่เหนือความเกิดความดับ
.
มันจะมีความรู้ชนิดหนึ่งไปอยู่เหนือความเกิดความดับอันนั้นน่ะ
มันถึงจะเกิดการทำลายสักกายะทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ออกจากจิต
.
แล้วเราก็จะเกิดความรู้ และมีความรู้ที่เราไม่เคยรู้ ไม่เคยเป็น ไม่เคยประสบ
มันจะเกิดประจักษ์กับใจ แล้วจะได้เห็นคุณค่าทั้งหมดทางด้านการปฏิบัติ ที่มันจะเกิดขึ้นกับเรา
และคุณค่าตรงนี้จะเป็นคุณค่าที่ทรงคุณค่ามาก
.
เราจะไม่เคยซาบซึ้งความเป็นพระพุทธศาสนา เราก็จะซาบซึ้งตรงนี้
เราไม่เคยซาบซึ้งต่อพระพุทธพระธรรมว่าซาบซึ้งแค่ไหน เราก็จะซาบซึ้งตรงนี้
เราไม่เคยซาบซึ้งว่าธรรมะเป็นเรื่องที่น่าซาบซึ้งแค่ไหน เราก็จะซาบซึ้งตรงนี้
มันจะมีเรื่องที่ซาบซึ้งต่างๆหลายๆอย่างตามมาให้เราเกิดเป็นความรู้ภายในตัวเรา
แล้วเป็นผลรองรับภายในจิตใจของเราเอง และนั่นคือผลที่ควรค่าแก่การเข้าถึงทางด้านการปฏิบัติที่เราได้รับ
ตัดตอนบางส่วนจากการสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ผ่านโปรแกรมซูม เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 (สามารถดูย้อนหลังได้ใน Group ทำมะ)