๑. ระลึกถึงความตายให้เกิดความสังเวชใจว่า ชีวิตเรามีความตายเป็นที่สุด ก่อนที่จะตายเราได้กระทำสิ่งที่ควรกระทำให้สำเร็จประโยชน์แล้วหรือยัง เพราะเมื่อตายไปแล้วเราจะไม่สามารถกระทำสิ่งที่พึงกระทำในโลกนี้ได้อีก
๒. พิจารณาความเสื่อมความสิ้นของชีวิตว่า ชีวิตเราทั้งชีวิตเป็นเพียงสภาพของความเสื่อมความสิ้นที่เกิดสืบเนื่องกันไปจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
อย่าสำคัญมั่นหมายในชีวิตเป็นจริงเป็นจังมากเกินไป เพราะกายกับจิตเป็นเพียงองค์ประกอบที่อิงอาศัยกันอยู่ ไม่มีความมั่นคงอยู่แม้สักขณะหนึ่งเลย เกิดแล้วก็ดับไปในทันที หากยึดมั่นถือมั่นในกายสังขารมากเกินไป ก็ไม่มีอะไรที่จะยึดได้ตามการยึดมั่นถือมั่นนั้นเลย ปรากฏให้เห็นแต่ความเสื่อมความสิ้นอยู่ตลอดเวลา จึงควรที่จะหาวิธีการปล่อยวางอยู่เสมอ
๓. ระลึกอยู่ว่า การเกิดเป็นมนุษย์ของเรานี้ถือว่าเป็นบุญเก่าที่ส่งผลมาจากปางก่อน การใช้ชีวิตอยู่ในเวลานี้จึงเป็นการใช้ชีวิตที่อาศัยบุญเก่าอยู่ตลอดเวลา จึงไม่ควรให้ชีวิตในแต่ละวันล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์ หมั่นพิจารณากายสังขารและจิตสังขารที่เกิดจากบุญเก่านี้ว่า บุญจัดเป็นสังขารฝ่ายดี แม้จะดียังไงก็ตามขึ้นชื่อว่าสังขารแล้วย่อมเป็นของไม่เที่ยง สิ่งที่ไม่เที่ยงย่อมเป็นทุกข์ สิ่งที่เป็นทุกข์ย่อมไม่ควรยึดถือว่าเป็นตน เมื่อกายกับจิตของเราในเวลานี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากบุญเก่า บุญเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ตัวเราก็ไม่เที่ยง บุญเป็นสิ่งที่ไม่คงอยู่ในสภาพเดิม ตัวเราก็ไม่คงอยู่ในสภาพเดิม(ให้มองเห็นความไม่คงอยู่ในสภาพเดิมของชีวิต) บุญเป็นสิ่งที่หมดสิ้นไปได้ ตัวเราก็หมดสิ้นไปได้เหมือนกัน พิจารณาดูจริงๆแล้วเรายึดถือไม่ได้อะไรเลยนอกจากการปล่อยวาง
๔. พิจารณากายได้มากเท่าไหร่ ก็ถอนความเห็นผิดได้มากเท่านั้น คิดไปในเรื่องโลกมากเท่าไหร่ก็หลงไปกับโลกมากเท่านั้น หมั่นพิจารณากายให้คุ้นเคยกับจิตอยู่บ่อยๆ จะช่วยให้จิตคลายอุปาทานได้มากขึ้น
๕. พยายามขบตีความหมายทางธรรมด้วยสติปัญญาให้จิตเข้าถึงข้อ
ธรรมนั้นๆอย่างถ่องแท้ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ธรรมเห็นธรรมจริงๆ
๖. พิจารณาให้เห็นความเป็นธรรมดาของโลกอยู่เสมอ เช่น ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา ความสำเร็จก็เป็นเรื่องธรรมดา ความทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา ความสุขก็เป็นเรื่องธรรมดา นินทาเป็นเรื่องธรรมดา สรรเสริญก็เป็นเรื่องธรรมดา อย่างนี้เป็นต้น
๗. นับเป็นบุญวาสนาอย่างยิ่งแล้วที่เราได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา อย่าให้ขณะแห่งชีวิตล่วงกาลผ่านวันไปโดยที่ไม่ได้ยึดเอาสาระทางด้านหลักคำสอนมาสู่การประพฤติปฏิบัติ เพราะจะเป็นการใช้ชีวิตด้วยความลำบากเปล่า ชีวิตก็เป็นโมฆะหาสาระสำคัญไม่ได้
๘. เราทุกคนที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ ทั้งคนดีคนไม่ดี ทั้งคนรวยคนจน ล้วนแล้วแต่มีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น จงอย่าสร้างความทุกข์เพิ่มให้แก่กันและกัน
๙. ตั้งใจอยู่เสมอว่า หากไม่รู้แจ้งในอริยสัจธรรม(อริยสัจ ๔) จะไม่คลายความเพียรอย่างเด็ดขาด
๑๐. บอกตนเองอยู่เสมอว่า เราจะไม่รอมรรคผลในชาติหน้า เพราะเป็นการตั้งความหวังแบบลมๆแล้งๆ ชาตินี้เราจะต้องเข้าถึงพระโสดาบันให้ได้
การตั้งใจไว้อย่างนี้จะเป็นอุบายไม่ให้ประมาทในชีวิต
จารุวณฺโณ ภิกฺขุ
พระอาจารย์ต้น