การเข้าสู่อริยภูมิ (๑. โสดาบัน)
พระพุทธเจ้าทรงแสดงการละกิเลสไว้ในสังโยชน์ ๑๐ ประการที่จะทำให้บรรลุถึง “นิโรธ” (ความดับทุกข์)
สำหรับชั้น โสดาบัน การกำหนดรู้อริยสัจให้กำหนดรู้ในสังโยชน์ ๓ ข้อแรกจากสังโยชน์ ๑๐ อย่าง ได้แก
๑. สักกายทิฏฐิ (สัก-กา-ยะ-ทิด-ถิ) คือ ความเห็นผิดในกาย ยึดมั่นสังขารร่างกายว่า เป็นตัวตน หรือมีความเห็นผิดใน ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ว่า เป็นตน เป็นของตน
๒. วิจิกิจฉา คือ ความสงสัยในคุณแห่งพระรัตนตรัย สงสัยเรื่องมรรคผล สงสัยพระนิพพาน สงสัยในทางให้ถึงพระนิพพาน
๓. สีลัพพตปรามาส (สี-ลับ-พะ-ตะ-ปะ-รา-มาด) คือ การลูบคลำศีลและวัตร ได้แก่ การรักษาศีล บำเพ็ญวัตร เพื่อจุดมุ่งหมายอื่น เช่น มุ่งสรรเสริญ มุ่งลาภสักการะ เป็นต้น มิใช่เพื่อความบริสุทธิ์
สักกายทิฏฐิคืออะไร
สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดในเรื่องร่างกาย อันประกอบด้วยธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ว่า “เราเป็นกาย กายเป็นเรา เรามีในกาย กายมีในเรา เรากับร่างกายเป็นอันเดียวกัน”
วิธีกำหนดรู้อริยสัจในสังโยชน์ข้อนี้ก็คือ ให้รู้ทุกข์ (ทุกขอริยสัจ)
แล้วอะไรคือตัวทุกข์
ข้อนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงขันธ์ ๕ ที่ก็คือตัวเรานี่แหละเป็นตัวทุกข์
เมื่อขันธ์ ๕ คือ ตัวเรา การกำหนดรู้อริยสัจคือทุกข์นี้ก็ต้องหันมาดู มารู้ที่ตัวเรา ต้องให้เห็นร่างกายของเราว่า เราคือตัวทุกข์
ก็เพราะร่างกายคือตัวทุกข์นี่แหละ ใจผู้มายึดถือ ครอบครองเอาร่างกายย่อมมีทุกข์ไปด้วย จึงเกิดผลเป็นทุกข์สองชั้นขึ้นมา คือ ทุกข์ทางกาย กับทุกข์ทางใจ
สิ่งที่เราควรทำเมื่อเวลาทุกข์เกิดขึ้น คือ กำหนดรู้ว่า นี้ทุกข์ ทุกข์นี้เป็นสัจธรรม เมื่อเรากำหนดรู้ทุกข์ในร่างกายไปเรื่อย ๆ แล้ว พอทุกข์เกิดขึ้นจริง เราก็จะมีสติรู้เท่าทันทุกข์
อาการที่รู้เท่าทันทุกข์ที่เกิดทุกครั้งนี่แหละ เราจะเห็นสมุทัย คือ เหตุให้เกิดทุกข์ (ทุกฺขสมุทโย)
ให้กำหนดรู้ “ดู” สมุทัยไว้อย่างนั้นโดยไม่ต้องทำอะไร อย่าอยากดับสมุทัย เพียงแต่ให้รู้อยู่อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เมื่อเราเห็นเหตุให้เกิดทุกข์ชัดเจนแล้ว ก็ให้เรากำหนดรู้ว่า สมุทัย (เหตุ) นี้เป็นของ “ควรละ”
แล้วเราจะละสมุทัยนี้ด้วยวิธีใด
ตอนนี้ เวลานี้ ขณะนี้ นักภาวนายังไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่ให้รู้ว่า สมุทัยนี้เป็นของควรละเท่านั้นเอง สิ่งที่ทำได้ก็คือกำหนดรู้ดูอยู่อย่างนั้น เห็นอยู่อย่างนั้นบ่อย ๆ เมื่อเห็นอยู่บ่อย ๆ แล้ว สมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์นี้จะ “ดับ” ลงไปให้เห็น จิตจะเห็น นิโรธ คือ ภาวการณ์ดับลงไปแห่งเหตุ (นิโรธสจฺจํ)
การเห็นความดับลงไปแห่งเหตุอันนี้แหละ ที่พระพุทธเจ้าทรงบอกว่า ควรทำให้แจ้งขึ้นมา คือให้ “อดทน” ทำความเพียร ดูการดับของสมุทัยมาก ๆ บ่อย ๆ พอดูมากเข้า ๆ จิตจะเกิดความ “รู้ตัว” มากขึ้น ในที่สุดจิตจะวางทุกข์ วางเหตุให้เกิดทุกข์ วางความดับทุกข์
จิตจะรู้แจ้งในอาการทั้ง ๓ ไปเรื่อย ๆ โดยจิตจะเห็นอาการทั้งสาม (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ) ตามความเป็นจริงว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้นเพราะมีเหตุ เมื่อเหตุดับ ทุกข์ก็ดับ ถ้าเหตุไม่ดับ ทุกข์ก็ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ
อาการที่เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างนี้เรียกว่า มรรค อันเป็นหนทางปฏิบัติให้ถึงความทุกข์
เมื่อเจริญภาวนาข้อมรรคนี้ไปเรื่อย ๆ จิตของผู้ปฏิบัติจะหยั่งลงสู่ อริยภูมิ ก้าวล่วงความเป็นปุถุชน มัคคสมังคี (กำลังแห่งมรรค) จะรวมตัวกันประหารกิเลส ทำลายความเห็นผิดในสักกายทิฏฐิสังโยชน์ ความเป็นโสดาบันก็จะเกิดขึ้นพร้อมกับปฐมฌาน (ฌานที่ ๑)
โสดาบันบุคคลจะเป็นผู้รู้แจ้งในสัจจะ ๔ (อริยสัจ ๔) อย่างชัดเจนในจิตว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแจ่มแจ้งและชัดเจน โดยธรรมชาติแห่งจิตที่ละกิเลสได้
เมื่อชำระความเห็นให้มีความเห็นที่ถูกต้องในกายได้แล้ว วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ก็จะหลุดร่วงออกไปจากจิตพร้อมกันทันที
ผู้เข้าถึงความเป็นโสดาบันแล้ว ย่อมรู้ชัดภายในจิตว่า เรามีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดาสามารถปิดอบายภูมิได้อย่างถาวร จิตจะเกิดภูมิรู้ขึ้นมาที่เรียกกันว่า ผู้รู้ จิตผู้รู้นี้จะเป็นประโยชน์มากต่อการดำเนินชีวิต และการดำเนินไปสู่ความดับทุกข์ในเบื้องหน้า
จารุวณฺโณ ภิกฺขุ (พระอาจารย์ต้น)