โยม : กราบนมัสการพระอาจารย์เจ้าค่ะ …
การที่เรามองทุกคนว่า ต่างคนต่างไม่มีตัวตน สิ่งนี้จะช่วยให้ดับกิเลส ไม่รัก ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงได้ และต้องใช้จิตที่นิ่งในการน้อมดึงเข้ามาในใจโดยตลอดใช่ไหมคะ
การที่บุคคลจะเห็นว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ได้นั้น บุคคลนั้นจะต้องเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงนี่แหละ คือ สิ่งที่เราจะต้องสร้างขึ้นมา ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง คือปัญญา (ความรอบรู้ในกองสังขาร) อันแทงตลอดอริยสัจ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) …
แน่นอน เมื่อแทงตลอดอริยสัจ ย่อมไม่โลภใน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค …
ย่อมไม่มีโกรธใน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค …
ย่อมไม่หลงใน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค …
ถามว่า : จิตจะต้องนิ่ง (สัมมาสมาธิ) ขนาดไหนเพื่อให้ได้มาซึ่งปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงแบบนี้
ตอบว่า : เป็นต้นว่า….
– จิตจะต้องตั้งมั่นระลึกรู้กายตลอดเวลาขณะที่กายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป โดยที่ไม่ยินดี ไม่ขัดใจ
– ไม่ประกอบอกุศลทางกาย วาจาออกไป
– ไม่คิดพยาบาทเบียดเบียนในกายนั้น ๆ
– จิตจะต้องตั้งมั่นระลึกรู้เวทนาตลอดเวลาขณะที่เวทนาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป โดยที่ไม่ยินดี ไม่ขัดใจ
– ไม่ประกอบอกุศลทางกาย วาจาออกไป
– ไม่คิดพยาบาทเบียดเบียนในเวทนานั้น ๆ
– จิตจะต้องตั้งมั่นระลึกรู้จิตมีราคะตลอดเวลาที่ราคะจิต เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป โดยที่ไม่ยินดี ไม่ขัดใจ
– ไม่ประกอบอกุศลทางกาย วาจาออกไป
– ไม่คิดพยาบาทเบียดเบียนในราคะจิตนั้น ๆ
– จิตจะต้องตั้งมั่นระลึกรู้จิตมีโทสะตลอดเวลาที่โทสะจิตนั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป โดยที่ไม่ยินดี ไม่ขัดใจ
– ไม่ประกอบอกุศลทางกาย วาจาออกไป
– ไม่คิดพยาบาทเบียดเบียนในราคะจิตนั้น ๆ
– จิตจะต้องตั้งมั่นระลึกรู้ขันธ์ ๕ ตลอดเวลาที่ขันธ์ ๕ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป โดยที่ไม่ยินดี ไม่ขัดใจ
– ไม่ประกอบอกุศลทางกาย วาจาออกไป
– ไม่คิดพยาบาทเบียดเบียนในขันธ์ ๕ นั้น ๆ
จิตจะต้องตั้งมั่นอย่างนี้ ขนาดนี้ เพียงนี้ จึงจะเป็นไปเพื่อให้เห็นว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ฯ …