Day: December 10, 2022
#สนทนาเรื่องการปฎิบัติภาวนากับเยาวชนคนรุ่นใหม่
#หลักกรรม
หลักธรรมชาติกำหนดไว้ว่า ใครทำสิ่งใด ย่อมได้รับสิ่งนั้น ซึ่งหมายถึงว่า เราแต่ละคน จะต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเอง เรื่องนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงสอน “หลักกรรม” เพื่อให้รู้ว่า ชีวิตของเราจะไม่ขึ้นตรงต่อสิ่งใด ไม่มีใครจะมาบันดาลให้เราได้ดีหรือได้ชั่วได้เลย ดีหรือชั่วเกิดจากสิ่งที่เราได้กระทำลงไปไม่ว่าจะในขณะใดก็ตาม และในขณะต่อไปก็จะมีเหตุปัจจัย ดึงเราไปสู่การกระทำดีหรือชั่ว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับจิตของเราในขณะนั้นว่า จะแยกแยะเหตุผลอันเป็นเหตุปัจจัยแห่งการกระทำได้มากน้อยเพียงใด เพราะรู้ซึ้งแล้วว่า เราทำสิ่งใดลงไป สิ่งนั้นจะกลับมาตอบสนองต่อเราอย่างแน่นอน เมื่อเรารู้ว่า ทำอย่างไร ก็จะได้ผลอย่างนั้น หากเราสามารถยอมรับผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำได้ ก็ไม่เป็นไร ให้ทำต่อไปทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี.. พระองค์ตรัสสอนต่ออีกว่า มนุษย์ตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมซึ่งมีอยู่เพียง ๒ ด้าน คือ ดี กับ ไม่ดี ที่จะคอยอำนวยผลตอบสนองให้ ฉะนั้น มนุษย์จึงได้รับผลด้านดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เพราะแต่ละคนมีการกระทำทั้งดีและไม่ดี จะทำดีอย่างเดียวก็ไม่ได้ ทำไม่ดีอย่างเดียวก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะทั้งสองอย่างนั้น ไม่ใช่ปกติวิสัยของมนุษย์ เราจึงมีทำดีบ้าง ไม่ดีบ้าง สลับสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา ผลดีและผลไม่ดีจึงตอบสนองมนุษย์สลับกันไปมาเช่นนี้ มนุษย์จึงจะต้องมาเกิดด้วยวงจรของกรรรมที่เมื่อทำไม่ดี ก็ไปทำดีเพื่อมาแก้ไข คือ ทำกุศลเพื่อแก้ไขอกุศล พระพุทธองค์เล็งเห็นว่า หากทำเช่นนี้เรื่อย ๆ คือ เกิดมาแล้ว…
#การฝึกจิต
จิตของเราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมายาวนาน สะสมสิ่งดี และสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ไว้มากมาย โดยทั้งสิ่งดีและสิ่งไม่ดีในจิต จะคอยกระตุ้นเตือนให้เราฝักไฝ่อยู่ในความดี หรือความชั่ว ด้วยการปฏิบัติต่อไปจากเส้นทางเดิมที่เคยทำไว้ให้ถึงที่สุด จิตเป็นที่สะสมของอาสวกิเลส ถ้าหากไม่ฝึกจิต เราก็จะตกเป็นทาสของกิเลสไปตลอดกาล แต่เมื่อฝึกฝน เราก็จะสามารถชำระสะสางกิเลสที่เกาะกุมอยู่ในจิตให้หลุดร่วงออกไปได้ การฝึกจิตจึงได้ชื่อว่า เป็นการทำลายมูลเหตุแห่งความทุกข์ไม่ให้เกิดขึ้นกับจิตของเราได้ หากไม่ฝึกก็เท่ากับเป็นการปล่อยให้จิตถูกเหยียบย่ำ ถูกทำลายด้วยอำนาจของกิเลส และสร้างทุกข์ให้กับจิตใจของเราเองเปล่า ๆ ซึ่งจะทำให้เราดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้ด้วยความลำบากเปล่า เมื่อฝึกฝนก็จะแก้ไขและชำระกิเลสที่สะสมอยู่ในจิตได้ ความเบาใจ ความอบอุ่นใจ ความสงบร่มเย็นในจิตในใจก็จะเป็นผลเกิดขึ้นตามมาให้กับผู้ฝึกผู้ปฏิบัติได้รับรู้รับทราบ … การฝึกจิตเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เพราะศาสนายังมีอยู่ในเวลานี้เมื่อศาสนายังมีอยู่ จึงไม่ควรปล่อยโอกาสของความมีอยู่ของศาสนาให้ผ่านพ้นไปเฉย ๆ แม้จะมีความทุกข์ ความยากลำบากเพียงใดก็ตาม ก็ต้องยอมปฏิบัติ ยอมฟัง ยอมแก้ไขจิตใจ ยอมพัฒนาจิตใจโดยอาศัยหลักคำสอนเข้าไปสู่การปฏิบัติ ก็จะทำให้เราเข้าถึงการพ้นทุกข์ได้ คุณธรรมในศาสนานี้ยังสามารถเข้าถึงได้เสมอ ความเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และอรหันต์อย่างทรงคุณค่า มีอยู่ในศาสนานี้ และเป็นผลรองรับผู้ปฏิบัติทุกกาล ทุกยุค ทุกสมัย การไม่ประมาทในกุศล และทำการไม่ประมาทในข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ การเพ่งพินิจพิจารณาธรรมที่พระองค์ทรงสอนให้ พิจารณารูปธรรมกับนามธรรม พิจารณาให้รู้แจ่มแจ้งขึ้นมาภายในจิตว่า รูปธรรมคืออะไร นามธรรมคืออะไร เมื่อรู้แจ่มแจ้ง จนเข้าใจในชั้นของปัญญาอีกชั้นหนึ่งเรียกว่าวิปัสสนา…