การภาวนาหาใช่การอ้อนวอนพร่ำบ่นเพื่อให้สำเร็จสมประสงค์ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การคาดหวังถึงความสำเร็จ แล้วมุ่งกระทำการภาวนาเพื่อให้ได้รับผลตามความต้องการ นั่นหมายถึงว่า เราได้สูญเสียอิสรภาพไปเสียแล้ว การขาดอิสรภาพ จะทำให้เราเกิดความดิ้นรน และทุกครั้งที่ดิ้นรน ย่อมทำให้เรากักขังตนเองไว้กับความทะเยอทะยาน อำนาจ ยศศักดิ์ และทรัพย์สิน จะเป็นที่คุมขังเรา เพราะเข้าใจว่า เมื่อมีสิ่งเหล่านี้แล้ว เราจะมีอิสรภาพ หลากหลายผู้คนจึงภาวนาขอให้ตนเองเป็นเช่นนั้น แท้ที่จริงแล้ว ภาวนาหาเป็นเช่นนั้นไม่ ภาวนา คือ การประจักษ์แจ้งต่อความจริงด้วยปัญญา ไม่มีคำว่าสำเร็จหรือล้มเหลว การเผชิญกับความจริงที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันด้วยจิตที่เป็นอิสระ ไม่ปฏิเสธสิ่งที่เป็นความขัดแย้ง ไม่เพลิดเพลินในสิ่งที่น่ายินดี ปราศจากความกังวลในทั้งสองสิ่ง ทำได้เช่นนี้จึงชื่อว่าเป็นการ “ภาวนา” ผู้ภาวนาย่อมกล้าที่จะประสบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีหรือร้าย จะเจ็บปวดหรือสุขสม ล้มเหลวหรือสำเร็จ จะทุกข์หรือสุข จิตจะไม่ตกอยู่ในห้วงแห่งความหดหู่ ท้อแท้ หรืออิ่มเอมเปรมปรีด์ใด ๆ การภาวนาจึงเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้จิตเข้าถึงอิสรภาพแห่งชีวิตโดยแท้ จารุวณฺโณ ภิกฺขุ (พระอาจารย์ต้น) #AjahnTon ที่มา : https://www.facebook.com/124704516447601/posts/185014470416605/
Day: October 16, 2023
#Time
เวลาไม่ได้อยู่ที่การหมุนของเข็มนาฬิกา และไม่ได้อยู่ที่การโคจรของดาวโลก แต่เวลาอยู่ที่จิตของเราเอง หากเราพิจารณาเห็นความเกิด-ดับในปัจจุบัน เวลาในจิตก็จะหายไป เวลาจึงไม่มีอยู่จริง ที่มีอยู่จริงคือความเกิดความดับ หากเราไม่เห็นความเกิด-ดับ จิตก็จะไปเกาะอยู่กับเวลา คำว่า เวลา ทางภาษาบาลีมีความหมายว่า สิ่งบอกกาล เวลาในจิตแบ่งเป็นสามคือ อดีตกาล อนาคตกาล ปัจจุบันกาล ถ้าเราไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน จิตจะตกไปอยู่ในข้างของอดีตและอนาคต เวลาจะช้าลง หากเราอยู่กับปัจจุบัน เวลาจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่หากเราเห็นปัจจุบันเกิด-ดับ เวลาจะหยุดนิ่ง จิตจะอยู่เหนือกาลเวลา หากจะนับเวลาในโลก(เวลาในทางสมมติ) ก็จะแบ่งเป็นสามกาล คือ อรุณ-เช้า ทิวา-กลางวัน ราตรี-กลางคืน สิ่งบอก ‘กาล’ ไม่ใช่ ‘เวลา’ ของโลก แต่เป็นสภาพของเปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน จารุวณฺโณ ภิกฺขุ (พระอาจารย์ต้น) #AjahnTon