#การเข้าสู่อริยภูมิ (ต่อ) (๓. อนาคามี)
พระพุทธเจ้าทรงแสดงการละกิเลสไว้ในสังโยชน์ ๑๐ ประการที่จะทำให้บรรลุถึง “นิโรธ” (ความดับทุกข์) สำหรับชั้น อนาคามี การกำหนดรู้อริยสัจนั้น ให้กำหนดรู้ในสังโยชน์ต่อไปนี้คือ
๕. รูปราคะ ความติดใจในรูปฌาน
๖. อรูปราคะ ความติดใจในอรูปฌาน
ราคะมีอยู่ ๒ ชั้น ที่พระอนาคามี “ละ” ได้นั้น เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับกาม เรียก กามราคะ ส่วน รูปราคะ เป็นความยินดีในรูป
สิ่งใด ๆ ก็ตามที่เป็นวัตถุรูป ปรากฏตั้งอยู่ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นรูปหยาบ รูปละเอียด รูปใกล้ รูปไกล รูปเลว รูปประณีต รูปนอก รูปใน รูปทั้งหมดนี้เป็นที่ตั้งที่อยู่ของราคะ พระอนาคามียังมีความ “ยินดี” ในรูปเหล่านี้อยู่ รูปราคสังโยชน์ก็ยังผูกใจของพระอนาคามีได้
ส่วน อรูปราคะ คือ ความยินดีในมรรคผล คุณธรรมขั้นต้น ๆ ที่เกิดขึ้นในจิต ถ้าพระอนาคามีไม่กำหนดรู้ว่า “แม้เป็นอนาคามีก็ชื่อว่ายังไม่พ้นจากทุกข์” ก็จะติดอยู่กับอรูปราคสังโยชน์นี้อีกยาวนาน
การกำหนดอริยสัจในสังโยชน์ ๒ ประการนี้ ต้องใช้ความละเอียดมาก เพราะทุกข์ไม่ค่อยจะมีให้พระอนาคามีจับได้ จะปรากฏเป็นความสุขเสียมากกว่า จึงต้องใช้ “สติ” จับดูความสุขที่ปรากฏอยู่กับใจ เป็นเครื่องกำหนดรู้ว่า “แม้สุขที่ปรากฏอยู่นี้ก็เป็นทุกข์”
สุขจะเป็นทุกข์ได้อย่างไร
สุขจัดเป็นทุกข์ได้ เพราะตัวแท้ของสุขคือทุกข์ สุขนั้นเป็นเวทนาขันธ์ ขึ้นชื่อว่า “ขันธ์” แล้วเป็นทุกข์ ไม่มีสุขเลย ที่ปรากฏเห็นว่าเป็นสุขนั้นก็เป็นสุขจริงอยู่ แต่ความจริงของสุขก็คือทุกข์ เพราะฉะนั้นควรกำหนดดูสุขว่าเป็นทุกข์ เท่านี้เองคือกิจที่พระอนาคามีควรทำ
แล้วจะละ รูปราคะ อรูปราคะ ได้อย่างไร
อัธยาศัยของจิตพระอนาคามีจะเป็นจิตที่อิสระจากกาม จิตจึงมีความปลอดโปร่ง ไร้ความกังวล เบา สบาย เป็นสภาพ จิตอันละเอียดไม่ว่าจะมี รูป รส กลิ่น เสียง เข้ามาสัมผัสจิตท่านอยู่ ท่านก็มีความสุขอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้ โดยไม่เห็นว่าเป็นโทษแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะสังโยชน์อันเกี่ยวข้องกับรูปมีอยู่ ยังไม่ได้ถูกละ ถึงแม้จะมีความสุขขึ้นมากลบเกลื่อน ก็ชื่อว่ายังไม่พ้นจากทุกข์อยู่ดี ถ้ากำหนดรู้สุขที่ปรากฏว่าเป็นทุกข์ได้ ก็จะสามารถละรูปราคะและอรูปราคะได้
ส่วนความสุขที่เกิดจากมรรคผล (อรูปราคะ) นั้น เป็นความสุขที่อาศัยเวทนาขันธ์เกิดขึ้น เวทนาขันธ์มีอยู่ในกาย ตั้งอยู่ในกาย เมื่อยินดีในสุขอันเกิดจากมรรคผล ก็เท่ากับยินดีในรูปร่างกาย (รูปราคะ) ด้วย แต่ไม่ยินดีเพราะความเห็นผิดในรูป เป็นความยินดีในสุขเวทนาที่อาศัยรูปขันธ์เกิดขึ้นเท่านั้น ถ้าละความสุข โดยเห็นว่าเป็นทุกข์ได้ ก็เท่ากับละรูปราคะ อรูปราคะ ได้โดยปริยาย
เมื่อละรูปราคะ อรูปราคะได้แล้ว อัธยาศัยของจิตก็ตั้งมั่น รวมดวงเจิดจ้า ปลอดโปร่ง เบา และสบายกว่าเดิมมาก จนเกิดความหลงมี “มานะ” ถือตัวขึ้นมา เมื่อเกิดมีมานะถือตัวขึ้นมา ก็จะคิดเปรียบเทียบจิตตนกับจิตคนอื่น อาการที่เปรียบเทียบนี้แหละเรียกว่า อุทธัจจะเป็นความฟุ้งซ่านในจิตของพระอนาคามี
จารุวณฺโณ ภิกฺขุ (พระอาจารย์ต้น)