หลักธรรมชาติกำหนดไว้ว่า ใครทำสิ่งใด ย่อมได้รับสิ่งนั้น ซึ่งหมายถึงว่า เราแต่ละคน จะต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเอง
เรื่องนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงสอน “หลักกรรม” เพื่อให้รู้ว่า ชีวิตของเราจะไม่ขึ้นตรงต่อสิ่งใด ไม่มีใครจะมาบันดาลให้เราได้ดีหรือได้ชั่วได้เลย
ดีหรือชั่วเกิดจากสิ่งที่เราได้กระทำลงไปไม่ว่าจะในขณะใดก็ตาม และในขณะต่อไปก็จะมีเหตุปัจจัย ดึงเราไปสู่การกระทำดีหรือชั่ว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับจิตของเราในขณะนั้นว่า จะแยกแยะเหตุผลอันเป็นเหตุปัจจัยแห่งการกระทำได้มากน้อยเพียงใด เพราะรู้ซึ้งแล้วว่า เราทำสิ่งใดลงไป สิ่งนั้นจะกลับมาตอบสนองต่อเราอย่างแน่นอน
เมื่อเรารู้ว่า ทำอย่างไร ก็จะได้ผลอย่างนั้น หากเราสามารถยอมรับผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำได้ ก็ไม่เป็นไร ให้ทำต่อไปทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี..
พระองค์ตรัสสอนต่ออีกว่า มนุษย์ตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมซึ่งมีอยู่เพียง ๒ ด้าน คือ ดี กับ ไม่ดี ที่จะคอยอำนวยผลตอบสนองให้
ฉะนั้น มนุษย์จึงได้รับผลด้านดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เพราะแต่ละคนมีการกระทำทั้งดีและไม่ดี จะทำดีอย่างเดียวก็ไม่ได้ ทำไม่ดีอย่างเดียวก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะทั้งสองอย่างนั้น ไม่ใช่ปกติวิสัยของมนุษย์ เราจึงมีทำดีบ้าง ไม่ดีบ้าง สลับสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา ผลดีและผลไม่ดีจึงตอบสนองมนุษย์สลับกันไปมาเช่นนี้ มนุษย์จึงจะต้องมาเกิดด้วยวงจรของกรรรมที่เมื่อทำไม่ดี ก็ไปทำดีเพื่อมาแก้ไข คือ ทำกุศลเพื่อแก้ไขอกุศล
พระพุทธองค์เล็งเห็นว่า หากทำเช่นนี้เรื่อย ๆ คือ เกิดมาแล้ว ต้องมาทำดีเพื่อแก้ไขผลไม่ดีที่ได้รับอยู่เรื่อย ๆ มนุษย์ก็จะยังเป็นผู้ตกอยู่ภายใต้ห้วงแห่งความทุกข์ จะทำอย่างไรให้มนุษย์หลุดออกไปจากวงจรนี้ได้ พระองค์จึงทรงสอน ๒ ข้อนี้ ได้แก่
๑. กฎแห่งกรรม
๒. จะทำอย่างไรให้ออกไปจากกฎแห่งการกรรมนี้ได้
นั่นหมายความว่า สิ่งที่เรากระทำไปนั้น ได้จองจำเราไว้ในวิถีแห่งการกระทำอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ต้องมาเกิดมาตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อรับผลจากการกระทำของตนเอง โดยในขณะที่รับผล ก็กระทำกรรมใหม่ เป็นการสร้างเหตุปัจจัยใหม่ให้ตนเอง เพื่อให้ตนเองต้องมารับผลในวันข้างหน้าต่อไป
วัฏฏสงสารจึงไม่มีที่สิ้นสุดลงได้ …
จารุวณฺโณ ภิกฺขุ (พระอาจารย์ต้น)