ธรรมชาติเหล่าใดที่ไม่เที่ยง ธรรมชาติเหล่านั้นก็ย่อมไม่เที่ยงอยู่อย่างนั้น ไม่มีใครเปลี่ยนธรรมชาติที่ไม่เที่ยงให้เป็นของที่เที่ยงได้ ธรรมชาตินั้นจึงเป็นสัจจะในตัวของธรรมชาติเอง
.
ด้วยความที่ธรรมชาติแห่งความไม่เที่ยงได้แสดงความไม่เที่ยงผ่านกายสังขารและจิตสังขารอยู่ทุกขณะ ความสำคัญมั่นหมายในการยึดกายสังขารและจิตสังขารว่าเป็นตน ทำให้ธรรมชาติแห่งความไม่เที่ยงเบียดเบียนบีบคั้นผู้ยึดนั้นอยู่
.
เมื่อผู้ยึดถูกธรรมชาติแห่งความไม่เที่ยงเบียดเบียนบีบคั้นอยู่เรื่อยๆ ความทุกข์จึงเกิดขึ้น เมื่อผู้ยึดมีความทุกข์ ก็ไม่อยากให้ตนเองมีความทุกข์ จึงสร้างตัณหาขึ้นมาผลักไสความทุกข์ออกจากตน ตัณหาจึงครอบงำผู้ยึดนั้นไว้ในวงจรแห่งความทุกข์
.
มีหนทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้พ้นออกจากวงจรแห่งความทุกข์ได้ คือการวางกายสังขารและจิตสังขารไว้ตามธรรมชาติแห่งความเปลี่ยนแปลงของเขา อย่าสำคัญมั่นหมายในกายสังขารและจิตสังขารว่าเป็นตน แม้กายสังขารและจิตสังขารจะประสบกับความทุกข์ยากลำบากเพียงใดก็ตาม นั่นก็เป็นเพียงธรรมชาติแห่งความไม่เที่ยงที่แสดงตัวออกมาตามธรรมดาเท่านั้น
.
อวิชชา กิเลส อนุสัย สังโยชน์ กรรม และวิบาก จะส่งผลให้กายสังขารและจิตสังขารเป็นไปอย่างไรก็ตาม ก็เป็นเรื่องของความไม่เที่ยงที่ปรากฏตามเหตุปัจจัยของชีวิต อย่าตื่นกลัวกับเรื่องเหล่านี้ เพราะมันเป็นเรื่องของสังขารที่มีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
.
ความไม่สำคัญมั่นหมายในกายสังขารและจิตสังขารจะก่อให้เกิดปัญญาเข้าไปรับรู้ความไม่เที่ยงนั้น เมื่อความไม่เที่ยงถูกรับรู้อยู่ จึงไม่มีผู้หลงผิดเข้าไปยึดในสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้น ตัวตนที่จะเข้าไปรับผลแห่งความไม่เที่ยงในกายสังขารและจิตสังขารก็ไม่มี มีแต่ความไม่เที่ยงเท่านั้นที่ปรากฏอยู่ ผู้กำหนดรู้ความไม่เที่ยงอยู่เสมอ ย่อมเห็นแจ้งในกายสังขารและจิตสังขารตามความเป็นจริง ผู้รู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ย่อมสลัดออกจากกองทุกข์ทั้งปวงได้
.
จารุวณฺโณ ภิกฺขุ (พระอาจารย์ต้น)
#AjahnTon‘