จิตของเราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมายาวนาน สะสมสิ่งดี และสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ไว้มากมาย โดยทั้งสิ่งดีและสิ่งไม่ดีในจิต จะคอยกระตุ้นเตือนให้เราฝักไฝ่อยู่ในความดี หรือความชั่ว ด้วยการปฏิบัติต่อไปจากเส้นทางเดิมที่เคยทำไว้ให้ถึงที่สุด
จิตเป็นที่สะสมของอาสวกิเลส ถ้าหากไม่ฝึกจิต เราก็จะตกเป็นทาสของกิเลสไปตลอดกาล แต่เมื่อฝึกฝน เราก็จะสามารถชำระสะสางกิเลสที่เกาะกุมอยู่ในจิตให้หลุดร่วงออกไปได้
การฝึกจิตจึงได้ชื่อว่า เป็นการทำลายมูลเหตุแห่งความทุกข์ไม่ให้เกิดขึ้นกับจิตของเราได้ หากไม่ฝึกก็เท่ากับเป็นการปล่อยให้จิตถูกเหยียบย่ำ ถูกทำลายด้วยอำนาจของกิเลส และสร้างทุกข์ให้กับจิตใจของเราเองเปล่า ๆ ซึ่งจะทำให้เราดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้ด้วยความลำบากเปล่า
เมื่อฝึกฝนก็จะแก้ไขและชำระกิเลสที่สะสมอยู่ในจิตได้ ความเบาใจ ความอบอุ่นใจ ความสงบร่มเย็นในจิตในใจก็จะเป็นผลเกิดขึ้นตามมาให้กับผู้ฝึกผู้ปฏิบัติได้รับรู้รับทราบ …
การฝึกจิตเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เพราะศาสนายังมีอยู่ในเวลานี้เมื่อศาสนายังมีอยู่ จึงไม่ควรปล่อยโอกาสของความมีอยู่ของศาสนาให้ผ่านพ้นไปเฉย ๆ แม้จะมีความทุกข์ ความยากลำบากเพียงใดก็ตาม ก็ต้องยอมปฏิบัติ ยอมฟัง ยอมแก้ไขจิตใจ ยอมพัฒนาจิตใจโดยอาศัยหลักคำสอนเข้าไปสู่การปฏิบัติ ก็จะทำให้เราเข้าถึงการพ้นทุกข์ได้
คุณธรรมในศาสนานี้ยังสามารถเข้าถึงได้เสมอ ความเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และอรหันต์อย่างทรงคุณค่า มีอยู่ในศาสนานี้ และเป็นผลรองรับผู้ปฏิบัติทุกกาล ทุกยุค ทุกสมัย
การไม่ประมาทในกุศล และทำการไม่ประมาทในข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ การเพ่งพินิจพิจารณาธรรมที่พระองค์ทรงสอนให้ พิจารณารูปธรรมกับนามธรรม พิจารณาให้รู้แจ่มแจ้งขึ้นมาภายในจิตว่า รูปธรรมคืออะไร นามธรรมคืออะไร
เมื่อรู้แจ่มแจ้ง จนเข้าใจในชั้นของปัญญาอีกชั้นหนึ่งเรียกว่าวิปัสสนา คือ เห็นการเกิดการดับของสิ่งนั้น เมื่อรู้การเกิดการดับ ก็จะไปทำลายความหลงผิดที่มีการยึดมั่นถือมั่น
เมื่อทำลายความหลงผิดได้ อาสวกิเลสที่คอยเกาะในจิตที่ยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นตน ตนเป็นขันธ์ ๕ ก็ไม่มีที่ตั้ง เมื่ออาสวะไม่มีที่ตั้ง ก็ไม่สะสม จะทำอะไรก็ไม่มีตัวอาสวะเกิดขึ้นในจิต เพราะทราบการเกิดการดับของระบบขันธ์นั้นอย่างแน่แท้ แจ่มแจ้ง ชัดเจนแล้ว
การฝึกฝนทั้งหมดจะต้องอาศัยความพากเพียร อาศัยความตั้งใจ อาศัยแรงผลักดันจากภายในที่เห็นคุณค่าว่า สิ่งที่ปฏิบัตินั้นจะอำนวยผลประโยชน์ให้กับตัวเราเอง ….
จารุวณฺโณ ภิกฺขุ (พระอาจารย์ต้น)
#AjahnTon
ดูน้อยลง