จิตใจที่อ่อนแอเป็นจิตใจที่ไร้ที่พึ่ง ไม่มีที่พึ่ง
พระพุทธเจ้าก็เลยพยายามสอนให้เราได้เข้าใจว่า
จิตสักแต่ว่าจิต อย่าไปหวงมัน อย่าไปปกป้องมัน
มันเป็นธรรมชาติรับอารมณ์ ปล่อยให้มันรับอารมณ์
แต่เรารับผลจากการกระทบของมันไม่ได้
นี่คือปัญหาใช่ไหมล่ะ
ผลคือความวุ่นวาย
เราไม่สงบสุขเลยในจิตในใจ
… … …
ถ้าเราลองปล่อยวางให้อารมณ์มันเกิดขึ้นในจิต
จนเสร็จสิ้นกระบวนความของมัน
ในขณะที่เรารับรู้อารมณ์นั้น เราไม่เข้าไปปรุงแต่งต่อ
พูดง่ายๆ คือ ไม่คิดต่อจากเรื่องราวนั้นที่มากระทบ
๑. ไม่คิดต่อจากเรื่องราวที่มากระทบ
๒. ไม่เข้าไปห้ามอารมณ์ที่มากระทบ
๓. อย่าอยากดับอารมณ์ที่กระทบกับจิตอยู่
๔. ถ้าเราทำได้ในสามข้อนี้ ถ้าอารมณ์ยังไม่ดับ ให้อดทนดูต่อไป อดทนดูอารมณ์ที่เข้ามาในจิต
ถ้ามีความอดทนได้มันจะเกิดผลข้อที่ ๕
ข้อที่ ๕ คืออะไรรู้ไหม
อารมณ์จะดับลงไปด้วยตัวของมันเอง
เมื่ออารมณ์ดับไปด้วยตัวของมันเองปั๊บ
ความวุ่นวายดับ
มันจะเป็นอะไรขึ้นมาแทนล่ะคราวนี้
ความวุ่นวายหายไป ก็สงบขึ้นมาแทน
แสดงว่าการหาความสงบ ไม่ได้หาอยู่ที่อื่นเลย
… … …
การที่เราหนีออกจากจุดหนึ่งไปอยู่อีกจุดหนึ่ง
อาจจะสงบได้ชั่วคราวแต่นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหา
การแก้ปัญหาของพระพุทธเจ้า
คือไปแก้ปัญหาที่ตัวรับ
ผัสสะกระทบนั่นมันกระทบใจ
ดูที่ใจ ดูอารมณ์ที่ปรากฏกับใจ
ว่ามันกระทบขึ้นมาแล้วปล่อยให้มันเกิด
ปล่อยให้มันตั้งอยู่
แล้วปล่อยให้มันดับ
… … …
การไปคิดต่อจากการกระทบที่มันผ่านเข้ามากระทบใจเรา
หากไปคิดต่อปุ๊บ
มันก็เป็นการกระทำให้อารมณ์นั้นคลุกคลีอยู่กับใจเรา
สืบต่ออารมณ์ไปได้อยู่ตลอด
… … …
“การคิดต่อ” เป็นการหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ไว้
ถ้าเราคิดต่อนะ ก็บอกเลย
๑ ห้ามคิดต่อ
๒ อย่าห้ามอารมณ์
๓ อย่าอยากดับมัน
เพราะถ้าเราเข้าไปดับ
อย่าลืมว่าอารมณ์เป็นนามธรรม ไม่มีตัวตน
เราจะเอาอะไรเข้าไปดับมันล่ะ
เราอยากจะดับขนาดไหนก็ดับไม่ได้หรอก
เพราะไม่มีตัวตน มีแต่อาการ
มันกระทบแล้วปั๊บ ทำให้จิตใจเราขุ่นมัว หรือวุ่นวาย
หรือเศร้าหมอง หรือคิดมากไปต่างๆนานา ปัญหารุมเร้า
คิดเรื่องนี้ไม่หยุดไม่หย่อน
มันจะทำให้เราจมอยู่กับอารมณ์
… … …
ความอยากจะเข้าไปดับมันนี้
จะทำให้อารมณ์สืบต่อกับจิตโดยที่ไม่ดับ
เพราะถ้าเราอยากเข้าไปกระทำการปั๊บนี่
ความอยากเป็นการปรุงแต่งอย่างหนึ่ง
หรือว่าเข้าไปควบคุม ซึ่งอารมณ์นี้ไปควบคุมมันไม่ได้
พระอาจารย์ต้น
จารุวณฺโณ ภิกฺขุ