คนที่ “คิดว่า” ตนเองได้เปรียบคนอื่น นั่นเป็นเพียงการ “คิดว่า” เท่านั้น หรือคนที่คิดว่าตนเองเสียเปรียบคนอื่น นั่นก็เป็นเพียงการ “คิดว่า” เช่นกัน แท้ที่จริง ไม่มีใครได้เปรียบและไม่มีใครเสียเปรียบใครเพราะโลกนี้เป็นโลกแห่ง “กฎของกรรม” นั่นคือใครทำสิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้น ไม่มีใครเอาเปรียบใครได้ใครทำกรรมใดไว้ก็จะเป็นผู้ได้รับผลของกรรมนั้น “กรรม” คือเหตุจากปางก่อนที่อำนวยผลในปัจจุบัน แต่ขณะปัจจุบันหากเรามี “ปัญญา” ก็จะทำให้เราอยู่เหนือกรรมได้ ปัญญาที่กล่าวถึงก็คือ “ปัญญาในอริยมรรค” ซึ่งก็คือการเห็นทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์เห็นความดับทุกข์เห็นวิธีปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ “ปัญญาในอริยมรรค”จะทำให้เราอยู่ “เหนือกรรม” เมื่อเราทำกิจทางด้านปัญญา(กำหนดรู้อริยสัจ ๔)อยู่อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้จิตของเราอยู่เหนือกรรม กรรมจะไม่มีพลังดึงจิตเราไปสู่การชดใช้ หรือแม้จะมีเศษของวิบากเข้ามาให้ผล กรรมพอประมาณนั้นย่อมดับไปได้ด้วยปัญญาสัมมาทิฏฐิ แต่หากเป็นกรรมหนักก็จะเหลือส่งผลแก่เราเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้น ดังนั้น เมื่อต้องเผชิญกับกรรมเราจึงต้องใช้ “ปัญญา” คือ “ปัญญาในอริยมรรค” นั่นเอง … ____________จารุวณฺโณ ภิกฺขุAjahnTon
Author: Prawit Wachirayano
#ปัญญาแห่งอริยมรรค
สุขและทุกข์เป็นอารมณ์ของโลก ผู้ที่มีปัญญา ฝึกหัด ปฏิบัติให้เข้าถึง “ทางแห่งอริยมรรค” คือ ทางตามคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยไม่ยึดจับเอาอารมณ์ของโลก คือ สุขและทุกข์ มาเป็นเหยื่อล่อให้ตัวเองถูกผูกติดอยู่กับความสุขบางอย่าง หรือปฏิเสธกับความทุกข์บางอย่าง ที่เคยทำอยู่อย่างนี้มาตลอดชีวิต ติดอยู่กับบุญ ติดอยู่กับบาป ติดอยู่กับดี ติดอยู่กับชั่ว ติดอยู่กับถูก ติดอยู่กับผิด นี่คืออารมณ์ของโลกทั้งหมด สติปัญญาที่พระพุทธเจ้าสอน คือ สิ่งที่อยู่เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือดี เหนือชั่ว เหนือถูก เหนือผิด เหนือบุญ เหนือบาปสติปัญญานั้น คือ สติปัญญาของ “อริยมรรค” เป็นสติปัญญาที่จะต้องตั้งไว้ให้รู้เห็นตามความเป็นจริง สติปัญญาที่ตั้งไว้ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงนี้แหละ จะทำให้ไม่ตกไปข้างถูก ไม่ตกไปอยู่ในข้างผิด ไม่ตกไปในข้างดี ไม่ตกไปในข้างชั่ว ไม่ตกไปในข้างบุญ ไม่ตกไปในข้างบาป แต่เป็นธรรมกลาง ๆ ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” มัชฌิมาปฏิปทา เป็นธรรมกลาง ๆ ที่ไม่ข้องแวะกับอารมณ์ของโลก จึงทำให้รู้เห็นโลกตามความเป็นจริง โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของโลกไม่เอาอารมณ์ของความสุขมาเป็นที่ตั้งในการดิ้นรน ไขว่คว้า แสวงหา ยึดจับเอาความสุขนั้นมาเสวย หรือเอามาเพื่อให้ตนเองได้รับผล หรือพูดง่าย…
#กำหนดรู้ความอยาก
ระหว่างที่ “ความอยาก” เกิดขึ้น จิตของเราจะเกิดความร้อนรนที่จะเข้าไปกระทำตามความอยาก เมื่อความอยากดับไปแล้ว ความร้อนรน และความดิ้นรนที่จะกระทำก็ไม่มี ทั้งสองสภาพจิตนี้ หากเราไม่มีสติในการกำหนดรู้ในขณะที่(ความอยาก)เกิดนั้น เราจะตกเป็นทาสของความอยากไปตลอดกาล …. จารุวณฺโณ ภิกฺขุ [พระอาจารย์ต้น]#AjahnTon๓ มิถุนายน ๒๕๖๒
#ความรู้ความเพียรความอดทนเป็นสิ่งกำหนดชะตาชีวิตของแต่ละคน
ในเรื่องความพยายามนี้ พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า มนุษย์คนใดก็ตาม มีความอุตสาหะ มีความพยายาม มีความบากบั่น ไม่ทอดธุระในการงานที่ตนเองทำอยู่เสมอ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ก็ไม่สามารถกีดกันความบากบั่น ความอุตสาหะ ความพยายาม และการเข้าถึงผลของคนๆ นั้นได้ หมายถึงว่า ชะตาชีวิตของคนเรา ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของใคร แต่อยู่ภายใต้การกระทำของเราเอง ฉะนั้น การกระทำของเราเองนี่แหละที่ควบคุมชะตาชีวิตของเรา แต่หากการกระทำของเรา เป็นการกระทำที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความรู้ หรืออาจจะมีความรู้ แต่ไม่มีความอดทน ไม่มีความอุตสาหะ ไม่มีความเพียรพยายาม ก็จะไม่สามารถบรรลุถึงประโยชน์อันสำเร็จ หรือบรรลุในสิ่งที่เราปรารถนาได้ … *************** บางส่วนบางตอนของการแสดงธรรมเรื่อง ‘เพียรอย่างไรจึงจะฉลาด’ โดย พระอาจารย์ ทวีวัฒน์ จารุวณฺโณ (พระอาจารย์ต้น)๑๘ มกราคม ๒๕๖๕
#ชีวิตมีคุณค่าเพราะมีความรู้
ชีวิตของเรา ไม่ว่าจะถูกกำหนดให้เป็นอยู่อย่างไรก็ตาม อย่าโทษโชคชะตา อย่าเห็นว่า นั่นเป็นความเลวร้ายในชีวิตของเรา แต่จงมองหาสิ่งที่มีประโยชน์ที่สุดเข้ามาสู่ภายในตัวเรา คือ การสร้างความรู้ พระอาจารย์อยากจะให้พวกเราสนใจหาความรู้ให้มากที่สุด ให้พยายามตั้งใจที่จะศึกษาเล่าเรียนให้เป็นความสำคัญกว่าสิ่งอื่น เพื่อเราจะเติบโตไปด้วยความรู้ เราจะไม่เติบโตไปด้วยความเป็นคนที่ขาดความรู้ หรือคนที่ไม่มีคุณค่าอะไรในชีวิต เพราะคนที่ขาดความรู้ คือ คนที่ไม่มีคุณค่าภายในตนเอง เราจะต้องแสวงหาความรู้ให้ได้มากที่สุดมาสู่ชีวิต โดยเห็นความรู้นั้นมีความสำคัญเท่า ๆ กับชีวิตของเราเอง การที่มีชีวิตอยู่ แต่ไม่มีความรู้ ถือว่าเป็นชีวิตที่ไร้คุณค่า ไม่ใช่ชีวิตที่น่าอิจฉา ฉะนั้นจงสร้างคุณค่าให้กับตัวเราด้วยการเรียนรู้ แล้วพยายามหมั่นศึกษาเรียนรู้ให้ดี ทุกคนสามารถสร้างคุณค่าให้กับตัวเองได้ แต่จะสร้างหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครทั้งสิ้น จารุวณฺโณ ภิกฺขุ (พระอาจารย์ต้น)๑๑ มกราคม ๒๕๖๕