สุขและทุกข์เป็นอารมณ์ของโลก
ผู้ที่มีปัญญา ฝึกหัด ปฏิบัติให้เข้าถึง “ทางแห่งอริยมรรค” คือ ทางตามคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยไม่ยึดจับเอาอารมณ์ของโลก คือ สุขและทุกข์ มาเป็นเหยื่อล่อให้ตัวเองถูกผูกติดอยู่กับความสุขบางอย่าง หรือปฏิเสธกับความทุกข์บางอย่าง ที่เคยทำอยู่อย่างนี้มาตลอดชีวิต
ติดอยู่กับบุญ ติดอยู่กับบาป ติดอยู่กับดี ติดอยู่กับชั่ว ติดอยู่กับถูก ติดอยู่กับผิด นี่คืออารมณ์ของโลกทั้งหมด
สติปัญญาที่พระพุทธเจ้าสอน คือ สิ่งที่อยู่เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือดี เหนือชั่ว เหนือถูก เหนือผิด เหนือบุญ เหนือบาป
สติปัญญานั้น คือ สติปัญญาของ “อริยมรรค” เป็นสติปัญญาที่จะต้องตั้งไว้ให้รู้เห็นตามความเป็นจริง
สติปัญญาที่ตั้งไว้ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงนี้แหละ จะทำให้ไม่ตกไปข้างถูก ไม่ตกไปอยู่ในข้างผิด ไม่ตกไปในข้างดี ไม่ตกไปในข้างชั่ว ไม่ตกไปในข้างบุญ ไม่ตกไปในข้างบาป แต่เป็นธรรมกลาง ๆ ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา”
มัชฌิมาปฏิปทา เป็นธรรมกลาง ๆ ที่ไม่ข้องแวะกับอารมณ์ของโลก จึงทำให้รู้เห็นโลกตามความเป็นจริง โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของโลก
ไม่เอาอารมณ์ของความสุขมาเป็นที่ตั้งในการดิ้นรน ไขว่คว้า แสวงหา ยึดจับเอาความสุขนั้นมาเสวย หรือเอามาเพื่อให้ตนเองได้รับผล หรือพูดง่าย ๆ ว่า มากอบโกยความสุขให้แก่ตนเอง
ไม่ได้ดิ้นรน เดือดร้อน หนีความทุกข์ หรือเมื่อถูกความทุกข์บีบคั้น ก็ไม่ได้ตกใจ
ชีวิตก็จะไม่ขึ้นตรงต่อความสุขหรือความทุกข์ของโลก
จารุวณฺโณ ภิกฺขุ (พระอาจารย์ต้น)
#AjahnTon