การเข้าสู่อริยภูมิ (๒. สกทาคามี)
พระพุทธเจ้าทรงแสดงการละกิเลสไว้ในสังโยชน์ ๑๐ ประการที่จะทำให้บรรลุถึง “นิโรธ” (ความดับทุกข์)
สำหรับชั้น สกทาคามี การกำหนดรู้อริยสัจนั้น ให้กำหนดรู้ในสังโยชน์ข้อต่อไปนี้คือ
๓. กามราคะ ความกำหนัดในกาม
๔. ปฏิฆะ ความหงุดหงิด ความรำคาญ
สังโยชน์ ๒ ประการในเรื่อง ราคะ โทสะ โมหะ นี้ สกทาคามีบุคคลจะละได้อย่างเบาบาง ไม่สามารถละได้โดยสิ้นเชิง
กามราคะคืออะไร
ถ้าจะเอาความหมายตามแบบก็คือ ความใคร่ ความอยาก ความปรารถนา สิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนา
กามแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ
๑. วัตถุกาม วัตถุอันน่าใคร่ สิ่งที่อยากได้ กามคุณ
๒. กิเลสกาม กิเลสที่ทำให้น่าใคร่ ความอยากที่เป็นตัวกิเลส
วัตถุกาม ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชอบใจ เช่น ที่ดิน บ้าน เงิน ทอง ไร่ นา สวน ลูก หลาน ญาติพี่น้อง และวัตถุต่าง ๆ ทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วัตถุกาม
หมู่มนุษย์จะหลงอยู่ในวัตถุกามนี้โดยไม่รู้ตัวว่าหลง นอกจากไม่รู้ว่าหลงแล้ว ยังเข้าใจว่า รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ นี้เป็นสิ่งที่สร้างความสุขให้กับตัวเองอีกด้วย
กิเลสกาม ได้แก่ ความพอใจ ความกำหนัด ความใคร่ในกาม ความยินดีในกาม ความปรารถนาในกาม ความเร่าร้อนในกาม ความหลงในกาม ความติดใจในกาม ความหมกมุ่นในกาม ความประกอบตนให้พัวพันอยู่ในกาม
ถ้าหากปล่อยให้กามกิเลสนี้เกิดขึ้นในใจเรื่อย ๆ จิตจะถูกกามกิเลสนี้ย้อมจิต เรียกว่า “ราคะ” คือ ความติดใจยินดี
เมื่อมีความติดใจยินดีในสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมจะสร้างความทุกข์ให้เมื่อไม่ได้รับสิ่งนั้นตามความต้องการ เพราะความที่ไม่ได้รับสุขตามความต้องการนี้แหละ ใจจึงถูกบีบคั้น เมื่อใจถูกบีบคั้นมากเข้า ๆ ก็จะมีความไม่พอใจ หงุดหงิดและรำคาญ (รวมถึงความโกรธด้วย)
อาการที่หงุดหงิดและรำคาญนี้ เรียกว่า ปฏิฆะ
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรารู้จักสังโยชน์ ๒ ประการนี้ คือ กามราคะ และปฏิฆะว่า “เป็นทุกข์” เป็นสิ่งที่ทำให้เราหลง และทุกข์อยู่กับมัน
จะกำหนดอริยสัจในสังโยชน์ ๒ ประการนี้อย่างไร
เพียงให้กำหนดรู้ว่า กามราคะ ปฏิฆะ เป็นทุกข์ ให้กำหนดรู้ไปเรื่อย ๆ ว่า กามราคะ ปฏิฆะนี้มีจริงอยู่ในเราและคนอื่น เราจึงทุกข์
เมื่อทุกข์จากกามราคะ ปฏิฆะเกิดขึ้นแล้ว หากไม่รู้จัก หรือไม่ได้กำหนดรู้ เราก็จะ “หลง” เป็นไปตามอารมณ์ทั้งสอง
ขอเพียงเรา “หยุด” เพื่อกำหนดดูความกำหนัดในกาม และความหงุดหงิดรำคาญที่อยู่ในใจบ่อย ๆ โดยไม่ต้องทำอะไร และอย่าทำตามอาการของกามราคะและปฏิฆะ ต้องใช้ความอดทน อดกลั้นเป็นอย่างยิ่ง แล้วตั้งใจดูอาการที่เกิดขึ้นจนกว่าจะดับหายไปจากใจ
เมื่อเห็นอาการดับแล้ว หากมันเกิดขึ้นมาอีก ก็ให้ตั้งใจดูอีกจนกว่าจะ “ดับ” หายไปจากใจอีก
เมื่อเกิดอีกก็ดูอีก กระทำอยู่อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องบำเพ็ญอะไรอย่างอื่นเพิ่ม ขอเพียงให้เห็นความกำหนัด และความหงุดหงิดนี้เกิด-ดับ ๆ ให้มาก ๆ
กามราคะ ปฏิฆะ จะถูก “ละ” ทีละน้อย เมื่อถูกดูอยู่บ่อย ๆ ผลปรากฏก็จะเกิดแก่ใจผู้ปฏิบัติเองว่า จิตจะสามารถทำ กามราคะ ปฏิฆะ ให้เบาบางได้ ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) จะเกิดขึ้นมารองรับ พร้อมกับความเป็นสกทาคามี (สะ-กะ-ทา-คา-มี)
เมื่อถึงตอนนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติจะเข้าใจและฉลาดในการกระทำให้สิ้นเชิงได้ในขั้นต่อไป แต่จะช้าหรือเร็วก็อยู่ที่การพิจารณาเพิ่มเติมด้วย
การพิจารณาเพิ่มเติมนั้น ควรเลือกเฟ้น “ข้อธรรม” ที่พิจารณาแล้วสามารถกระแทกสังโยชน์ ๒ อย่างนี้ให้หลุดร่วงลงได้ เช่น ธาตุกัมมัฏฐาน ๔ หรืออสุภกัมมัฏฐาน
เมื่อจิตละกามราคะ ปฏิฆะได้แล้ว ตติยฌาน (ฌานที่ ๓) จักเกิดขึ้นมารองรับจิตเองทันที พร้อมกับความเป็นอนาคามี ถึงแม้ผู้ปฏิบัติจะไม่เคยบำเพ็ญในทางฌานมาก่อนก็ตาม เมื่อปฏิบัติถึงขั้นนี้แล้วจะเกิดความเข้าใจเอง
จารุวณฺโณ ภิกฺขุ (พระอาจารย์ต้น)